How to write a personal statement
Statement of Purpose เป็นบทเรียงความประมาณ 1-2 หน้ากระดาษที่เรียบเรียงมาเป็นอย่างดีและจะเป็นโอกาสที่เราจะได้แนะนำตัวเราต่อคณะกรรมการของภาควิชาในหลักสูตรที่เราสนใจจะไปศึกษาต่อ เนื้อความหลักๆ ในเรียงความนี้ ควรจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเราว่า
1) Who you are?
2) What has influenced your career path so far?
3) Your professional interests
4) Where you plan to go from here?
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ และแรงปรารถนาด้านอาชีพการงานของตัวเราเสียก่อน อะไรเป็นสิ่งที่เราต้องการอยากจะทำให้สำเร็จจริงๆ ในชีวิตนี้ และสามารถอธิบายสิ่งเหล่านี้ให้ผู้อ่านสามารถรู้จักและเข้าใจตัวเราได้อย่างลึกซึ้งเพียงแค่อ่านเรียงความที่เราเขียน เราจึงต้องทำการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเอง พร้อมกับระบุเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ในอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า เราเห็นตัวเองทำอะไร อยู่ที่ไหน และประกอบอาชีพอะไร และที่สำคัญคือเรามีความสุขในการทำอาชีพนี้จริงๆ เมื่อนำสิ่งเหล่านี้มาประกอบกันเป็นเรียงความ 1 ชิ้น เรียงความชิ้นนี้จะต้องสะท้อนความเป็นตัวเรา (ในด้านดี) ออกมาให้ได้มากที่สุด
ในการวิเคราะห์ตัวเองดังกล่าว ควรจะกล่าวถึงรายละเอียดที่เป็นส่วนตัวบางอย่าง ซึ่งสะท้อนความคิด ความฝัน ความเป็นตัวตน และลักษณะนิสัยบางอย่างของเราผ่านเหตุการณ์ / ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเราซึ่งมีน้อยคนจะรู้ หรืออาจเปิดเผยข้อมูลบางอย่างที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ความลับ” ที่เราไม่เคยบอกเล่าให้ใครฟังมาก่อน ลองนึกทบทวนดูนะคะว่ามีเหตุการณ์อะไรในชีวิตของเราที่เป็น “จุดเปลี่ยน” / “ตัวจุดประกายความฝัน” / “แรงบันดาลใจ” หรือเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อตัวเรามากๆ จนกระทั่งทำให้เราเป็นตัวเรา ณ ปัจจุบันนี้ อาจจะเขียนเป็น Time Line ขึ้นมาทบทวนดูก็ได้ว่า “ชีวิตเราในอดีตที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และเราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นั้น”
ก่อนการเขียน เราอาจจะเขียน Resume ของตัวเราออกมาไว้เพื่ออ้างอิง และทำเครื่องหมายในจุดที่เราคิดว่าน่าสนใจและเราจะนำออกมาเป็นประเด็นหลักเพื่อเขียนอธิบายในเรียงความ และอาจจะศึกษาข้อมูลอื่นๆ ประกอบ เช่น เยี่ยมชมเว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัย หรือเมืองที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ว่ามีอะไรที่เป็นจุดเด่นและทำให้เราอยากไปใช้ชีวิต ใช้เวลาในการศึกษาเล่าเรียนที่นี่
มีบางคนเคยกล่าวติดตลกไว้ว่า Statement of Purpose ที่แจ๋วจริงๆ จะต้องทำให้คนที่อ่านเรียงความของคุณเกิดความรู้สึกอยากจะขอคุณแต่งงาน (เพราะเค้าเพิ่งรู้ว่าคุณเป็นคนที่น่าสนใจ มีทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น และต่อเหตุการณ์ในชีวิตของคุณเองในแง่บวกมากๆ หรือเพราะคุณเป็นคนคิดดี พูดดี ทำดี และหวังดีต่อผู้อื่น สังคม ประเทศชาติอย่างแท้จริง) ^o^
ก็เพราะฝรั่งเป็นคนขี้สงสัย และเค้าก็จะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จึงมีตัวอย่างคำถามบางอย่างที่เราควรถามตัวเองและควรจะมีคำตอบที่น่าพึงพอใจที่สามารถอธิบายเกี่ยวกับตัวเราเองได้ (ลองถามเอง ตอบเองซะก่อน ถ้าตัวเรา clear คนอ่านก็ clear) และอาจจะเป็นจุดเด่นของตัวเราที่เราจะนำมาใช้เป็นเนื้อหาหลักในเรียงความ อาทิ
1) มีอะไรพิเศษ โดดเด่น น่าประทับใจเกี่ยวกับตัวคุณที่เรา (คณะกรรมการ) ควรรู้ (Tell us about your life story.) ในเรียงความควรเป็นลักษณะของการเล่าเรื่องและให้รายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ / คน / สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของคุณ
2) เมื่อไหร่กันแน่ที่คุณรู้สึกสนใจสาขาวิชานี้ และคุณเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับสาขาวิชานี้ หรือสาขาวิชานี้ทำให้คุณรู้จักตัวเองมากขึ้นได้อย่างไร
3) คุณรู้จักสาขาวิชานี้ได้อย่างไร เช่น จากการเข้าร่วมสัมมนา อ่านหนังสือ ชั้นเรียน การทำงาน บทสนทนากับใครบางคน การฝึกงาน ประสบการณ์ต่างๆ
4) ถ้ามีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง (เช่น เคยทำงานด้านนี้มาก่อน) การทำงานเหล่านี้มีผลทำให้ตัวคุณเติบโตขึ้นในแง่ใดบ้าง อย่างไร (ข้อนี้เราจะต้องเลือกประสบการณ์อันที่โดดเด่นขึ้นมาอธิบายสักหนึ่งเหตุการณ์)
5) คุณมีเป้าหมายด้านหน้าที่การงานอย่างไร งานในฝันของคุณคืออะไร และทำไมคุณถึงอยากทำอาชีพนี้
6) ผลการเรียนของคุณเป็นอย่างไร มีอะไรที่เป็น gap หรือไม่ เช่น เคยเรียนได้เกรดเอมาตลอด อยู่ๆ เกรดก็ตกฮวบฮาบ มีอะไรเกิดขึ้นกับคุณในช่วงนั้น (เช่น กิจการที่บ้านมีรายได้น้อยลง เราจึงต้องไปทำงานพาร์ตไทม์เพื่อส่งเสียตัวเองเรียน หรือเพื่อแบ่งเบาภาระของทางบ้าน เราต้องทำงานมาก จึงเข้าชั้นเรียนไม่ครบ เป็นต้น) หรือผลสอบ TOEFL / GRE ได้คะแนนน้อยเพราะอะไร
7) คุณเคยที่จะต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะปัญหา อุปสรรค หรือความยากลำบากในชีวิตคุณหรือไม่ เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเงิน ปัญหาสุขภาพ ฯลฯ และคุณทำอย่างไรจึงผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านั้นมาได้ (Your personal view to get through something)
8) บุคลิก ลักษณะเฉพาะตัวของคุณ มีอะไรโดดเด่นที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จในสาขานี้
9) คุณมีความเชี่ยวชาญหรือมีทักษะอะไรเป็นพิเศษ เช่น ความเป็นผู้นำ การสื่อสาร การวิเคราะห์ แล้วคุณรู้ได้อย่างไรว่าคุณมีทักษะนี้ มีเหตุการณ์ / เหตุผลอะไรสนับสนุน (How do you know that?)
10) ทำไมคุณถึงดีกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ และอะไรเป็นปัจจัยที่จะช่วยทำให้คุณ “น่าจะ” ประสบความสำเร็จมากกว่าบุคคลอื่นที่ประกอบอาชีพเดียวกันในสาขานี้
11) ให้เหตุผลที่ทำให้คณะกรรมการสนใจในตัวคุณ เช่น คุณศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสาขานี้ / มหาวิทยาลัยแห่งนี้มาเป็นอย่างดีแล้ว คุณก็จะให้เหตุผลได้ว่า ทำไมคุณถึงอยากเรียนที่นี่ อาทิ โปรแกรมการเรียนน่าสนใจ ลักษณะพิเศษของที่ตั้งมหาวิทยาลัยที่มีส่วนส่งเสริมให้คุณได้เรียนรู้อะไรอย่างอื่นนอกจากเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน
12) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณได้อย่างครบถ้วน
General Tips
1. ตอบคำถามที่เขาถามอย่างตรงประเด็น
2. Tell who you are. เลือกมาสัก 1 เหตุการณ์ที่มีผลต่อชีวิตของคุณจริงๆ และให้รายละเอียดที่เป็น concrete experience / concrete example
3. Be specific. เขียนอะไรก็เขียนให้มันชัดๆ (Back up your claim & always refer back to your experience.)
4. Find “an angle” or “a hook”. ปล่อยหมัดเด็ด อะไรที่จะทำให้ผู้อ่านอยากรู้จักตัวเรา และจะตั้งใจอ่านเรียงความของเรา
5. ให้ความสำคัญกับประโยคแรกของเรียงความ ที่เรียกกันว่า “ประโยคเปิด (Opening paragraph)” ถ้ามีประโยคเปิดที่ดีจะช่วยดึงความสนใจของคนอ่าน และจะเป็นตัวช่วยตีกรอบเนื้อหาของเรียงความเราด้วยว่าจะเป็นไปใน Theme ไหน
6. Tell what you know. บอกหัวข้อการเรียน / การวิจัยที่เราสนใจ และทำไมเราถึงสนใจ เป็นช่วงที่ควรใส่ศัพท์เฉพาะ Technical Terms หรือ เนื้อหา concept ต่างๆ ที่คนในวงการนี้เค้ารู้เรื่องกัน ใส่ได้เต็มที่เป็นการโชว์กึ๋น อ๊ะ... แบบว่าเราก็พอจะมีภูมินะว่า trend การวิจัยหรือแนวโน้ม/ ทิศทางของสาขานี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไร แสดงวิสัยทัศน์ให้เต็มที่กันไปเลย
7. Be selective. ตั้งใจคิดกรอบของการเขียนให้ดี อย่างมั่วซั่ว เขียนให้ดีๆ เลือกเฉพาะสิ่งที่สำคัญมาอธิบาย อย่าเลือกเปิดประเด็นหัวข้อที่มีความขัดแย้ง หรือมีเนื้อหาที่มีผู้อ่านบางคนเห็นด้วยและมีผู้อ่านบางคนไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง
8. Do some research. ทำไมถึงอยากมาเรียนที่นี่ ในเมื่อมีมหาวิทยาลัยอีกหลายหมื่นแห่งในโลกนี้ที่เปิดสอนโปรแกรมการเรียนเดียวกัน เช่น เราศึกษามาแล้วที่นี่มีโปรแกรมการศึกษาแตกต่างจากที่อื่น เราอยากอยู่ในที่ที่มีอากาศหนาว / ที่ที่มีอากาศดี หรือเราชอบที่ตั้งที่มีความเป็นเมืองสูงกว่าความเป็นชนบท หรือชอบอยู่เงียบๆ ท่ามกลางบรรยากาศแบบธรรมชาติ
9. ตรวจสอบให้ดีอย่าให้มีคำผิด การใช้ไวยากรณ์ เครื่องหมายวรรคตอนต่างๆ
10. อย่าพยายามคิดว่าคณะกรรมการกำลังมองหาผู้สมัครแบบไหน ควรเป็นตัวของตัวเองและเล่าเรื่องจริง
11. Be simple, write simply. เขียนให้คนเข้าใจง่าย มีการลำดับเรื่องที่ดี
12. Write from your heart and your feeling. เขียนจากใจ เขียนจากความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง
ระหว่างที่เขียน
1. อ่านทบทวนคำถามให้เข้าใจโดยละเอียดว่าทางมหาวิทยาลัยต้องการให้เราเขียนเรื่องเกี่ยวกับอะไร ตรงนี้ต้องระวังด้วยในกรณีที่ว่าเราสมัครไปหลายๆ มหาวิทยาลัยแล้วส่ง Statement of Purpose ที่เหมือนกันทุกประการไปให้ทุกมหาวิทยาลัยที่เราสมัคร ฝรั่ง (กรรมการ) เค้ารู้นะว่าคุณ copy & paste แล้วมาเปลี่ยนเฉพาะชื่อมหาวิทยาลัยน่ะ และเคยได้ยินว่ามีบางคนที่รีบๆ จะส่งเอกสารไปให้มหาวิทยาลัยส่งจดหมายไปผิดฉบับค่า... ก็เป็นจดหมายผิดซองไป มหาวิทยาลัย Bได้รับจดหมายที่เขียนถึงมหาวิทยาลัย A อะไรแบบนี้ ทำให้คนนั้นเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดายด้วยความสะเพร่าแท้ๆ
2. อาจจะระบุความสนใจที่จะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นในมหาวิทยาลัยเดียวกัน เช่น สมัครเรียนโปรแกรมปริญญาโทแล้วก็เขียนไปว่าถ้าเรียนจบแล้วก็อาจจะสมัครเรียนโปรแกรมปริญญาเอกที่นี่ต่อเลย
3. มีความมั่นใจในตัวเองได้ แต่อย่า “โอเว่อร์” หรือแสดงความอวดเก่ง ยะโส โอหัง
4. ไม่ควรให้ข้อมูลที่ซ้ำกับที่เขียนไว้ใน Resume ในเรียงความนี้คุณควรใช้เป็นโอกาสในการแนะนำตัวเองในมิติอื่นที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น หรือแสดงวิสัยทัศน์ หลักปรัชญา ที่เกี่ยวข้องกับการเรียน หรือให้ข้อมูลที่แสดงบุคลิกลักษณะบางประการที่ไม่สามารถแสดงอรรถาธิบายไว้ได้ใน Resume เช่น มีเรียงความอันนึง ผู้เขียนบอกว่าตัวเองชอบปีนเขา ชอบปีนไปให้ถึงจุดที่สูงที่สุดเท่าที่ตัวเขาจะทำได้ เมื่อไปถึงจุดที่สูงที่สุดของยอดเขาแล้วเขารู้สึกอย่างไร อะไรทำให้เขามาถึงจุดที่สูงที่สุดแห่งนี้ได้ จากนั้นเขาก็วกกลับมาเขียนเกี่ยวกับโปรแกรมการเรียนที่ต้องอาศัยความมุมานะ บากบั่น พยายาม แสดงทัศนคติในการที่จะไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ และคุณสมบัติเด่นอื่นๆ ของตัวเขา เป็นต้น
ขั้นตอนการ Edit & Rewriting
ลองเขียนเรียงความขึ้นมาใหม่อีก 3-4 อัน เลือกดูว่าอันไหนเขียนดีที่สุด ตรวจสอบความลื่นไหลของเนื้อเรื่อง การลำดับความ การใช้ไวยากรณ์ ภาษาที่ใช้ (ไม่ควรใช้คำแสลง คำย่อ และควรตัดคำที่ไม่จำเป็นออก “พูดซ้ำถือว่าโง่” อย่าให้มีเนื้อความที่วกไปวนมาซ้ำความเดิม และควรใช้คำศัพท์ที่มีความหมายซ้ำด้วย Synonyms ที่มีความหลากหลาย และอาจลองเปลี่ยนรูปแบบประโยคให้มีหลายๆ แบบ) และดูโทนของภาษาในภาพรวม (อ่านจบแล้วรู้สึกเช่นไร มีพลัง / หดหู่ / โกรธแค้น / ป้อยอ / เกินจริง และควรหลีกเลี่ยง flowery language) สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา
ขั้นตอนการขัดเกลา Polishing
ลองวางเรียงความที่เราเขียนเสร็จแล้วทิ้งไว้ 2-3 วัน สมมติว่าถ้าตัวเราเป็นคณะกรรมการแล้วต้องมาอ่านเรียงความฉบับนี้ เราจะมีความรู้สึกอย่างไรเมื่ออ่านจบ หรืออาจส่งให้เพื่อนๆ ช่วยอ่านและให้คำวิจารณ์ว่าเค้าอ่านแล้วคิดยังไง มีอะไรที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้เรียงความนี้มีความสมบูรณ์ขึ้น ถ้าไม่มีใครช่วยดูเรียงความให้ก็ต้องช่วยตัวเองแล้วล่ะ โดย
1. ดูว่าเนื้อหาครอบคลุมสิ่งที่เราต้องการสื่อออกไปแล้วหรือไม่
2. มีการซ้ำข้อมูลหรือไม่ (จำไว้ว่า “พูดซ้ำถือว่าโง่”)
3. ความลื่นไหล อ่านได้แบบสบายๆ
4. การใช้ภาษาเป็นแบบทางการเกินไป หรือพูดเล่นมากไปหรือไม่
5. จบสวยหรือเปล่า
6. ประโยคเปิดของเราน่าสนใจพอหรือยัง
7. แสดงความเป็นตัวเราที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใครได้เป็นอย่างดี
และตรวจสอบเพิ่มอีกสักนิดก่อนส่งเรียงความ
1. Be specific, personal, and honest.
2. อย่าเว่อร์ อย่าประชดประชันหรือเสียดสี
3. ไม่ต้องทำตลก หรือปล่อยมุขใดๆ
4. ใช้จินตนาการ แต่อย่าเตลิดไปไกลเกินไป
5. เลือกใช้คำศัพท์ที่มีพลัง High effective vocabulary / strong words, idiomatic expression
6. เอาไอเดียที่ต้องการสื่อเป็นหลักเพื่อแสดงใจความสำคัญ
7. ไม่ควรใช้ fancy words / flowery language
Comments
Post a Comment