ความหมายของชีวิต
เนื้อหาต่อไปนี้ได้มาจากการเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรม “ธรรมะสัญจร” ณ วัดปัญญานันทาราม จังหวัดปทุมธานี ปี ๒๕๕๓ ช่วงฟังเทศน์จากพระอาจารย์พบว่าท่านบรรยายธรรมดีมาก ฟังแล้วเข้าใจ และเป็นแง่คิดที่ควรนำไปปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง เราจดไว้ในสมุดเพราะอยากเก็บไว้เตือนใจตัวเอง …
ชีวิต คือ การเป็นอยู่อย่างสดชื่นหมายถึง กาย (รูป) ต้องมีความ “สด”ใจ (นาม) ต้องมีความ “ชื่นบาน”“กายแสวงหา จิตรักษาความสงบเย็น”
สิ่งที่กายต้องทำมีอยู่สองเรื่อง คือ ๑) การเคลื่อนไหว และ ๒) การแสวงหาปัจจัยสี่ส่วนสิ่งที่ใจต้องทำเป็นกิจกรรมที่ตรงข้ามกับกาย นั่นคือ ๑) การไม่หวั่นไหว, นิ่ง, ไม่ฟู ไม่แฟ่บ และ ๒) การรักษาจิตให้มีความสันโดษ
สันโดษ = ความพอใจ ความยินดีในสิ่งที่ตัวเองมี จึงมีคำกล่าวที่ว่า “ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง”ทรัพย์ = ความพอใจ ความปลื้มใจ แต่หากเรามีเงินหนึ่งร้อยล้านแล้วก็ยังไม่พอใจ ก็เรียกได้ว่า ไม่มีความสุข ไม่มีทรัพย์
ความหมายของสันโดษอีกแง่มุมหนึ่งนอกจากการพอใจในสิ่งที่ได้มาแล้ว เราก็จะต้องขยัน ต้องทำให้เต็มที่ ทำให้เต็มความสามารถเสียก่อน เมื่อได้ผลลัพธ์ใดก็ตามแล้วก็ต้องพอใจ ดังนั้น จิตจึงไม่เหนื่อย ไม่กระวนกระวาย ไม่ยินดีหรือยินร้าย
ใจของคนเรานั้นมีธรรมชาติที่ดีอยู่ก่อน เดิมจิตนั้นประภัสสร แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสจรเข้ามา ตัวกิเลสเองไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่จะมาเป็นพักๆ โดยจิตคนเรา ณ ขณะหนึ่งมีอยู่สองทางเลือก คือ เลือกที่จะสุขหรือทุกข์ (กิเลส) หรือเลือกที่จะเฉยๆ (ธรรมะ) เราจึงต้องเข้าใจเสียก่อนว่าทุกสิ่งมีเกิด ดับ เปลี่ยนแปลง แม้คนมักโกรธ เขาก็ไม่ได้โกรธอยู่ตลอดเวลา
ชีวิต คือ ทางเลือกที่เราตอบสนองต่อเหตุการณ์
ยกตัวอย่างเช่น คนจะโกรธกันได้ ต้องเห็นหน้า ต้องได้ยินเสียง เมื่อจิตรับรู้ความโกรธ จิตจะบันทึกไว้เป็นอนุสัย ต่อมาแม้ไม่เห็นหน้ากันก็โกรธได้ โทรศัพท์คุยกันก็โกรธ ต่อมาแม้เราจะอยู่คนละที่ ไม่เห็นหน้า ไม่ได้ยินเสียง นึกเอง คิดเองก็โกรธได้ จิตของเรา เราฝึกมันอย่างไร ก็จะเป็นอย่างนั้น
คนเราไม่มีใครชอบความทุกข์ แต่เมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นก็ไม่ยอมละวาง กลับคลอเคลีย ดึงรั้งความทุกข์ไว้กับตัวเอง เช่น วันหนึ่งมีคนมาด่าว่าเรา มีคนมาทำไม่ดีกับเรา เราเขียนบันทึกไว้ วันดีคืนดีเราเอาบันทึกขึ้นมาอ่าน ก็เกิดความโกรธ ความไม่พอใจ ความเสียใจไม่จบไม่สิ้น
เมื่อเป็นดังนี้แล้ว เราจะละความโกรธได้อย่างไร เราก็ต้องฝึกจิตของเรา ถ้าจิตตกก็ต้องดึงมันขึ้นมาใหม่ แม้มีคนด่า เราก็ต้องมีสติ ไม่โกรธ อันนี้ต้องใช้ความพยายาม ครั้งที่หนึ่ง เราก็อาจจะยังโกรธอยู่ แต่ครั้งที่สองหรือสาม เราก็จะดีขึ้น ให้น้ำขุ่นอยู่ใน น้ำใสอยู่นอก
เขาว่าความโกรธมีอยู่ ๕ ระยะ ลองวัดตัวเองดูระยะที่ ๑ นิ่ง เก็บความโกรธไว้ระยะที่ ๒ เริ่มโกรธระยะที่ ๓ บันดาลโทสะ ด้วยการแสดงออก มีปฏิกิริยาตอบโต้ อาทิ ด่ากลับ ทำร้าย ทุบตีระยะที่ ๔ ผูกโกรธ ผูกใจเจ็บ แม้ตอบโต้ออกไปไม่ได้ก็จะเก็บไว้เพื่อเจ็บใจต่อระยะที่ ๕ พยาบาท อาฆาต จองเวร หาหนทางทำร้ายคน
จะเห็นได้ว่า การโกรธทำได้ยาก เพราะมีหลายระยะ หลายขั้นตอน แต่การไม่โกรธทำได้ง่ายกว่า เราฝึกให้ตัวเรายิ้มแย้มแจ่มใสก็ทำได้ ฝึกให้ตัวเราเป็นคนซีเรียส ทำหน้าตาบูดบึ้ง ขมวดหัวคิ้ว ทำหน้าตายับย่นก็ทำได้ ดังนั้น หากเราสังเกตตนเอง หรือมีผู้หวังดีบอกว่าเราเป็นคนหน้าบึ้ง แสดงว่าเราได้ฝึกจิตจนชำนาญเสียจนกระทั่งจะทำหน้าตาบูดบึ้งก็ทำได้โดยง่าย
ปัจจุบัน นอกจากจะฝึก IQ แล้ว เราก็ต้องฝึก EQ ด้วย ฝึกให้ตัวเราร่าเริงเบิกบาน มีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส ต้องคิดเสมอว่า “สุข ทุกข์ ไม่อยู่นาน เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” ใจของเราต้องไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ไม่อาลัย ไม่อาวรณ์ และจำไว้ว่า “ความโกรธเป็นสนิมของปัญญา” แนวทางการแก้ไขปัญหาต้องอาศัย “อริยสัจ ๔”
คำว่า “สุข” เป็นคำสมมติ สังคมกำหนดเป้าหมายบัญญัติแนวคิด สวย-รวย-เก่ง แต่ชาวพุทธที่แท้ต้องเข้าใจธรรมชาติของชีวิต เข้าใจว่า “ความสุข” คือความหมายเดียวกันกับ “ความหมดทุกข์” คือ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป พอดีๆ การใช้ชีวิตจะต้องไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง รักษาจิตให้อยู่ในแนวกลาง ไม่ขึ้น ไม่ลง ใช้ชีวิตด้วยปัญญา จึงได้ชื่อว่าเป็น “บัณฑิต”
“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เพราะใครเล่าจะเป็นที่พึ่งแก่เราได้ผู้ฝึกตนเองดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้มาแสนยาก”
การจะเป็นผู้ครองเรือน จะสอบผ่านได้ต้องมีคุณสมบัติ ๔ อย่าง คือ๑. ต้องมีความขยัน ทุกคนต้องตื่นแต่เช้า ก้าวไปข้างหน้า พัฒนาตนเองและสังคม เวลาตี ๕ เป็นเวลาที่ดี สมอง-ความคิดโล่งว่าง สามารถเติมเต็มสิ่งดี ๆ ความคิดดีๆ ได้เยอะแยะ และจำไว้ว่า “ความเกียจคร้านเป็นมารดาของความชั่วทุกชนิด” คนขี้เกียจเป็นคนน่าเกลียด น่ารังเกียจ และไม่มีเกียรติ๒. ได้มาแล้วแบ่งปัน รู้จักการให้ ยิ่งให้-ยิ่งได้๓. ยามรุ่งเรืองไม่เหลิงลอย ไม่ฟุ้งซ่าน เกินตัว๔. แม้นเสื่อมถอยก็ไม่หมดกำลังใจ
เมื่อมีดีทั้ง ๔ ข้อนี้แล้ว ก็จะกินเป็น อยู่เป็น ใช้เป็น
“คนโง่ใช้เวลาว่างหาอาหารใส่ท้องคนฉลาดใช้เวลาว่างหาความรู้ใส่สมอง”
คนที่กินเป็นเวลา ก็จะถ่ายเป็นเวลาคนที่นอนเป็นเวลา ก็จะตื่นเป็นเวลาธรรมชาติไม่คดโกงใคร You are what you eat.พอดีทั้งข้างนอกและข้างในแบ่งเวลาออกกำลังกาย ทำงานอดิเรกคบหาสมาคมกับญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงจดจำ “อดีต” ไว้เป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์เพื่อเตือนตนเองคิดถึง “อนาคต” เพื่อวางแผน ไม่ประมาทกับชีวิตจงทำวันนี้ให้ดีที่สุด พรุ่งนี้ มะรืนนี้จะดูแลตัวของมันเองจงทำขณะนี้ให้ดีที่สุด ขณะหน้าก็จะดีเองทำวันนี้ของเราให้ดีและมีคุณภาพ เพื่อที่ว่า อยู่คนเดียวก็ไม่เหงา ไม่ว้าเหว่ อยู่หลายคนก็ไม่วุ่นวายหรือหวั่นไหวมีมิตรนับร้อยยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับมีศัตรูแค่หนึ่งคนคนที่ไม่มีศัตรู ชีวิตก็จะเบาสบายทำอะไรอย่าเอา “ตัวกู” เข้ามาเกี่ยว ให้ใช้ปัญญา ตั้งสมาธิ แล้ว...ลุย
สุดท้าย... ข้อปฏิบัติเพื่อชีวิตที่พอเพียง๑. ดื่มน้ำเปล่า๒. กินข้าวแกง๓. ของแพงไม่เกี่ยว๔. งดเที่ยวกลางคืน๕. หาความสุข สดชื่นที่บ้าน เอาใจใส่ดูแลบ้าน๖. รักงานยิ่งชีวิต ทำงานให้สนุก มีความสุขในการทำงาน๗. คิด พูด ทำ แต่เพียงพอดี
Comments
Post a Comment